เรือหลวงจักรีนฤเบศร |
การมีเรือขนาดใหญ่พร้อมอุปกรณ์ทันสมัยจะสามารถใช้ในการค้นหา และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลได้อย่างรวดเร็วและทันการ และหากว่ามีเฮลิคอปเตอร์ประจำการบนเรือจะช่วยขยายพื้นที่ในการลาดตระเวน และระยะเวลาในการปฏิบัติการในทะเลได้เป็นเวลานานและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กองทัพเรือจึงได้มีแนวความคิด ในการสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ เพื่อให้สามารถบรรลุภารกิจตามความมุ่งหมาย
จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 17 มีนาคม พ.ศ. 2535 อนุมัติให้กองทัพเรือว่าจ้างสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ จากบริษัทบาซาน เมืองเฟรรอล ประเทศสเปน ในวงเงินประมาณ 7,100 ล้านบาท และกองทัพเรือได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างสร้างเรือเมื่อ 27 มีนาคม พ.ศ. 2535
กองทัพเรือได้ขอพระราชทาน ชื่อเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กองทัพเรือ และเป็นขวัญกำลังใจแก่กำลังพลประจำเรือ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเรือหลวงลำนี้ว่า เรือหลวงจักรีนฤเบศร แปลว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งราชวงศ์จักร และใช้คำขวัญว่า "ครองเวหา ครองนที จักรีนฤเบศร"
ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงเจิมเรือหลวงจักรีนฤเบศร
เรือหลวงจักรีนฤเบศร หรือ เรือรบหลวงจักรีนฤเบศร เป็นเรือบรรทุกอากาศยานลำแรกและลำเดียวของราชนาวีไทยและอาเซียน ประจำการในส่วนกำลังรบของกองทัพเรือ เป็นเรือที่ต่อขึ้นจากประเทศสเปน ขึ้นระวางประจำการเมื่อ วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2540 ได้ใช้งานปฏิบัติภารกิจด้านยุทธการและช่วยเหลือภัยพิบัติตลอดน่านน้ำไทยทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน นอกจากนี้ยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมตามวันและเวลาที่กำหนดด้วย
ภารกิจเรือหลวงจักรีนฤเบศร
ร.ล.จักรีนฤเบศร เป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่ ลำแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีระวางขับน้ำ้มากถึง 11,743 ตัน สามารถทนต่อคลื่นลมรุนแรงได้ในระดับ 9 ซึ่งคลื่นมีความสูงถึง 13.8 เมตร และเพื่อให้การต่อเรือเป็นไปอย่างคุ้มค่า กองทัพเรือจึงได้พิจารณากำหนดคุณลักษณะเฉพาะของเรือ ให้สามารถทำหน้าที่เป็นฐานปฏิบัติการในทะเล เพื่อต่อระยะทำการของอากาศยาน และเรือรบของกองทัพเรือ ให้สามารถปฏิบัติภารกิจหน้าที่คุ้มครองผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และปกป้องอธิปไตยของชาติได้อีกด้วย
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น