แนะนำแหล่งท่องเที่ยวไทย ที่เที่ยวไทย ร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ด้วยการเที่ยวเมืองไทย โดยรวบรวมข้อมูลและสถานที่ท่องเที่ยวประเทศไทย ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคนรักการท่องเที่ยวไทย

ท่องเที่ยวไทย

วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พระพุทธรูปแกะสลักเขาชีจรรย์

พระพุทธรูปแกะสลักเขาชีจรรย์
พระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ มีชื่อว่า "พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา" ตั้งอยู่ที่ ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเลียนแบบพระพุทธนวราชบพิตรศิลปะสุโขทัยผสมล้านนา แกะสลักด้วยแสงเลเซอร์บนหน้าผาของเขาชีจรรย์ มีความสูง 130 เมตร หน้าตักกว้าง 70 เมตร ภายในพระอุระบรรจุพระรัตนะบรมสารีริกธาตุ

สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ใช้เงินค่าจัดสร้างทั้งสิ้นประมาณ 161.7 ล้านบาท

บริเวณโดยรอบตกแต่งเป็นสวนพักผ่อนหย่อนใจสวยงาม บริหารงานโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและจังหวัดชลบุรี และดูแลบำรุงรักษาโดยหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ

ขั้นตอนการสร้าง
การจัดสร้างพระพุทธรูปแกะสลักแบ่งงานเป็น 2 ส่วนคือส่วนที่หนึ่ง การก่อสร้างพระพุทธรูปหน้าผาเขาชีจรรย์ และส่วนที่สองคือการตกแต่งภูมิทัศน์รอบองค์พระพุทธรูปแกะสลักหน้าผา เขาชีจรรย์

การก่อสร้างสถาบันเทคโนโลยี่แห่งเอเซีย (เอ.ไอ.ที) เป็นผู้ดำเนินการกลั่นกรองบริษัทเอกชนที่เหมาะสมในการก่อสร้างซึ่ง ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธ์ศิริ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์ ออกแบบการปรับแต่งผิวหน้า นาย กนก บุญโพธิ์แก้ว รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบองค์พระ และในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ 2538 นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ว่าจ้างบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บลาสเตอร์ เป็นผู้ทำการก่อสร้างในราคา 43,305,800 บาท

งานระยะแรก เริ่มจากการสำรวจเพื่อการปรับแต่งผิวหน้าผาและเพื่อกำหนดความลึกของลายเส้นขององค์พระจากนั้นจึงระเบิดปรับเกลา และปิดรอยแตกร้าวด้วยวัตถุชนิดเดียวกับหน้าผา

จากนั้นงานระยะที่สอง ทำการสแกนภาพต้นแบบของพระพุทธรูปไว้ในคอมพิวเตอร์แล้วบันทึกโปรแกรมส่งไปยังสแกนเนอร์ เพื่อควบคุมการยิงเลเซอร์เพื่อวาดภาพบนเขา ซึ่งการฉายแสงวาดภาพบนเขาต้องทำในเวลากลางคืนเพื่อ การมองเห็นที่ชัดเจนให้คนงานโรยตัวด้วยเชือกลงมาจากยอดเขา แล้วใช้สีฝุ่นวาดแต้มเป็นจุดตามที่แสงเลเซอร์กำหนดไว้

การก่อสร้างเป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจาก ผิวหน้าผามีการแตกและช้ำมาก และฝนก็ยังได้ตกลงมาทำให้การทำงานมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ในที่สุดก็สามารถเสร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และในวันที่ 31 กรกฎาคม 2539 มีการประกอบพิธีน้อมเกล้าถวายพระพุทธรูปแกะสลักบนหน้าผาเขาชีจรรย์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานมหากรุณาธิคุณเสด็จฯไปทรงประกอบพิธีเบิกพระเนตร และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระอุระของพระพุทธรูป เพื่อให้เกิดเป็นสิริมงคลสืบไป

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 

Travel around the world

Thai noodles and snacks

Statistic

Unseen Amazing Thailand Copyright © 2010 Blogger Template Sponsored by Trip and Travel Guide